เป็นธรรมดาที่เวลาจะซื้ออาหารมารับประทานที่บ้าน เรามักพลิกบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจเช็กว่าอาหารชนิดนั้นมีส่วนประกอบจากอะไรบ้าง มีพลังงานเท่าไหร่ ถ้ามีฉลากก็ดีไป แต่ถ้าเป็นอาหารสดล่ะ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ขนมนมเนยที่ไม่มีฉลากปะไว้ตรงบรรจุภัณฑ์ จะทำยังไง
ลองมาดูสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีชื่อว่า TellSpec จะมาช่วยให้การตรวจสอบอาหารทำได้ง่ายขึ้น อุปกรณ์พกพาขนาดกะทัดรัดใกล้เคียงกับเมาส์คอมพิวเตอร์ มีปุ่มกดเพื่อใช้งาน 1 ปุ่ม ผู้ใช้เพียงแค่กดปุ่มดังกล่าวและนำมันไปจ่อใกล้ๆ กับอาหารที่ต้องการตรวจสอบ พร้อมทั้งเคลื่อนตัว TellSpec ไปมาเพื่อทำการสแกนหาข้อมูลองค์ประกอบของอาหารที่อยู่ตรงหน้า ผลการตรวจสอบที่ได้จะไปปรากฏอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่น สำหรับใช้งานควบคู่กัน
ข้อมูลที่ TellSpec ตรวจสอบนั้นจะมีหลายอย่าง อาทิ การมีอยู่ของสารอาหารจำพวกวิตามินและเกลือแร่ การมีอยู่ของสารที่ผู้คนอาจมีอาการแพ้ สารถนอมอาหาร สารปรุงแต่งกลิ่นและสี ปริมาณน้ำตาล ไขมันประเภทต่างๆ รวมทั้งปริมาณพลังงานที่จะได้รับจากการกินอาหารชนิดนั้นด้วย
หลักการทำงานของ TellSpec คือการแปลค่าของ Spectrometer ซึ่งภายในตัว TellSpec จะมีชุดยิงลำแสงเลเซอร์ไปยังอาหารที่ต้องการตรวจสอบ จากนั้นจะตรวจสอบสัญญาณแสงที่ตัวอาหารปล่อยกลับออกมา โดยใช้การกรองสัญญาณเพื่อแยกสเปกตรัมของคลื่นแสงตามความถี่ต่างๆ ซึ่งองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันก็จะให้ผลตอบสนองต่อแสงเลเซอร์ในลักษณะ ที่แตกต่างกัน
เจ๋งไหมล่ะ แต่ขอบอกก่อนว่า เจ้า TellSpec ตัวนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอโครงการระดมทุนในการประดิษฐ์ ราว 6.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ผ่านเว็บไซต์ระดมทุนสำหรับคนมีไอเดียอย่าง Indiegogo
แหล่งข่าวจาก posttoday…